ประวัติความเป็นมา
เทศบาลตำบลบ้านตาล
บ้านตาลเป็นหมู่บ้านใหญ่หมู่บ้านหนึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีความเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนหลังไปหลายร้อยปี เท่าที่มีการจดบันทึกไว้ในเอกสารใบลาน แม้จะมีการเคลื่อนย้ายไปบ้างในบางช่วงเวลา แต่ก็ยังปรากฏ ความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ บ้านตาลตั้งชื่อตามลำห้วยแม่ตาลที่ไหลผ่านหมู่บ้าน และเป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต ประวัติความเป็นมาของบ้านตาลถูกจารึกไว้ในใบลานที่ค้นพบจากถ้ำแม่ยุย เขียนเล่าเรื่องราวความเป็นมาของบ้านตาล การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่าง ๆ และความสัมพันธ์ กับบ้านเมืองใกล้เคียงไว้อย่างเห็นภาพ
ตามเอกสารอ้างอิง พอที่จะรู้ว่าคนบ้านตาลมีเชื้อสายมาจากเวียงเจ็ดลินโดยสันนิษฐานไว้ 2 กรณี คือ
1. ชนชาติบ้านตาลได้อพยพมาอยู่ก่อนหน้าขุนวิลังคะ ปกครองเวียงลัวะถ้าเป็นตามที่กล่าวอ้าง ชนชาติลัวะ จาวต๋านได้มาอยู่ในบริเวณบ้านตาล เมื่อประมาณ 1,300 – 1,500 ปีมาแล้ว
2. จาวลัวะบ้านตาล ได้มาตั้งรกรากอยู่เมื่อประมาณ 1,200 – 1,300 ปี เมื่อขุนวิลังคะทัพแตกในคราวที่สู้กับลูกชายของพระนางจามเทวี
3. ได้หนีโรคระบาด เมื่อ 950 ปี ที่เกิดในเมืองหริภุญชัย
ตามเอกสารอ้างอิง เมื่อครั้งที่พระนางจามเทวีได้มาถึงเมืองหอด ได้สร้างบ้านแป๋งเมืองขึ้น และให้ได้อำมาตย์เอกชื่อพญาแสนโทปกครอง (พญาแสนโทกับบุคคลที่บันทึกในตำนานบ้านตาลที่มีชื่อว่า สุทโท น่าจะเป็นคนเดียวกัน) ถ้าพญาสุทโทคือคนเดียวกันที่ไปขับเอาหมื่นยสจากดอยตั๊บ ก็พูดได้ว่า ชนชาติลัวะจาวตาลมาตั้งรกรากก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนที่พระนางจามเทวีจะมาสร้างเมือหอด (ฮอด)
ถ้าคิดตามที่ผ่านมา พอจะพูดได้ว่า หลานของหมื่นยส ได้พาบริวารมาสร้างบ้านแป๋งเมืองอยู่ที่บดสดเก๊าบะเดื่อย่าเป็ง เมื่อ 1,200-1,300 ปีก่อน ลัวะจาวตาลก็มาทำมาหากินอยู่บริเวณนั้น จนกระทั่งมาใน พ.ศ. 2101 พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ พม่ากำชัยชนะได้ไล้ผู้คนลัวะ จาวตาลที่ตั้งอยู่ที่บดสด ได้หนีภัยสงคราม โดยขนเอาทรัพย์สมบัติต่างๆ ไปซ่อนอยู่ที่ถ้ำห้วยแม่ยุย พม่าจึงทำการสร้างวัดขึ้นมาใหม่ บริเวณทางทิศใต้ของวัดเดิม ประมาณ 3 กิโลเมตร การสร้างวัดขึ้นมาใหม่ ในครั้งนี้พอที่จะยืนยันได้ คือ รูปหงส์ ที่อยู่ตรงหน้าสถูป (โขง) ในพระวิหาร การก่อสร้างน่าจะอยู่ในราว 400 – 440 ปี เมื่อพม่าชนะ ในการรบผ่านมาทางบ้านต๋านไปทางจังหวัดตากกลับเมืองหงสาวดี และได้สร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ นี่ก็เป็น ข้อสันนิษฐานหนึ่ง ข้อที่ควรคำนึงถึงอีอย่างหนึ่ง คนลัวะมีความชำนาญเรื่องทิศเป็นอย่างมาก ได้มีผู้ทรงความรู้ท่านหนึ่ง ได้มาคำนวณมุมองศาของตัวพระวิหาร และแท่นต่างในวัดบ้านตาลหลวงแห่งนี้ สถานที่แห่งนี้ อาจก่อสร้างทับเสาหลักของลัวะ ต่อมา พรามณ์เข้ามามีอิทธิพลได้ก่อสร้างทับไปอีก เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในสุวรรณภูมิก้าวล่วง มาถึงบริเวณที่อยู่ของชุมชนลัวะจาวตาลแห่งนี้ จึงทำการสร้างทับอีกชั้นหนึ่ง โดยมี แท่นต่างๆ อยู่โดยรอบพระวิหาร 5 แห่ง ปัจจุบันเห็นอยู่ 4 แห่ง ได้ถมไปหนึ่งแห่ง โดยอยู่ตรงหน้าต่าง พระวิหารทางด้านตะวันออกช่องที่หนึ่งไปประมาณ 50 เมตร อีก 2 แท่น อยู่นอกวัดทางทิศเหนือ ห่างจากต้นมะขามหน้าวัด ประมาณ 4 เมตร อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก โดยลากเป็นแนวตรงไปประมาณ 100 เมตร ถ้าการคำนวณแบบวัดมุมองศานี้เป็นจริง ความเก่าแก่ของวัดบ้านตาลหลวงแห่งนี้ น่าจะมีอายุ ก้าวล่วงมากกว่า 500 – 1,000 ปี
บ้านตาลเหนือ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 เป็นชุมชนเดิมของเชื้อสายชาวบ้านตาล ทั้ง 10 หมู่บ้าน เรียกตามดั้งเดิมว่า บ้านตาลหลวง มีแยกตัวออกไปโดยย้ายไปตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผู้นำหมู่บ้านรุ่นแรกเริ่มมาราว 100 -150 ปีก่อน ราว พ.ศ. 2400 แต่ชุมชนดั้งเดิมของหมู่บ้านตั้งอยู่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะเรียกที่แห่งนี้ว่า โต้งบดสด บริเวณนี้ประกอบไปด้วยส่วนต่าง มีหัวหมู่อุโบสถ 1 หลัง วัดร้าง 1 แห่ง พื้นที่ที่แสดงว่าเป็นบ้านร้าง 1 แห่ง เจดีย์ที่เรียกว่า จ๊องกะฎิ 1 องค์ ในระยะห่างเป็นช่วงๆ ประมาณ 1-4 กิโลเมตร จะมีวัดร้างให้เห็นเป็นระยะๆ นอกจากนี้จะเป็นทุ่งนาทั้งหมด การเสาะว่าหากิน เพาะปลูก ค้าขาย แลกเปลี่ยน
ในอดีตมีสัตว์ป่ามากมายให้เลือกบริโภค จึงเป็นแหล่งอาหารที่เหมือนไม่รู้มีวันหมด แต่ในปัจจุบัน ปี 2549 ความวิกฤตของสายน้ำห้วยแม่ตาล ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีแต่ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ทำให้ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ และการเพิ่มของประชากรก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ที่เลวร้ายลง บางอย่างกลับเจริญขึ้น สิ่งที่เลวร้ายลงคือทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งที่เจริญขึ้น คือสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทรัพยากรที่ได้สูญพันธุ์ไปมีมากมาย สูญพันธุ์ในที่นี้อาจแยกได้ 2 กรณี อย่างที่ 1. การย้ายถิ่น อย่างที่ 2. การหมดไปจริงๆจากพื้นที่ป่า พูดถึงเรื่องสัตว์บก มี กระทิง กวาง หมีควาย หมีหมา เสือโคร่ง เสือไฟ เสือปลา ควายป่า วัวป่า เลียงผา เป็นอาทิ ปัจจุบันหมดไปจากป่าแล้ว แต่หมีควายหรือหมีหมายังมีการพบเห็นอยู่นานๆครั้ง สำหรับสัตว์ที่ยังมีอยู่ คือ หมูป่า มีราว 200-300 ตัว อีเก้ง ราว 10-30 ตัว สำหรับนกมี นกเงือก นกกก กาน้ำ นกขอ ไก่ขวา อีแร้ง ไม่พบแล้วในปัจจุบัน สำหรับไก่ขวา มีพบแต่น้อยมาก สำหรับนกยูงเป็นนกชนิดเดียวที่ชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ไว้จึงมีให้พบเห็น ก็มีคนบางกลุ่มนำเนื้อมาบริโภค การเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีปัจจัยหลายอย่าง มีการล่าเพื่อบริโภค การขาดแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ การไม่รู้ความสำคัญว่านกยูงเป็นสัตว์ป่าที่หายาก สวยงาม และเป็นทรัพยากรที่มีค่าต่อผืนป่า ต่อชุมชน อย่างคาดไม่ถึงคาดไม่ได้ว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก เมื่อมีการจัดการดูและอย่างถูกต้อง ในลำห้วยแม่ตาล มีสัตว์น้ำตามที่ได้พบเจอคือ เต่าน้ำ เต่าน้ำผึ้ง เต่าป่า ปัจจุบันไม่มีการพบเห็นแล้ว นอกจากนี้ยังมีปูจ่า ปูหิน เขียดเบอะ เขียดแลว คางคก กบ หอย จำพวกปลามี ปลาปุ้ง ปลาอีมอน ปลาแคระหิน ปลาจ๊าด ปลาอ๊าวบะแบบ ปลาเหล่านี้ได้หายไปจากลำห้วยแม่ตาลแล้ว มีที่หลงเหลือ คือ ปลาซิว ปลากั่ง ปลาอี่บู่ ในพื้นที่ป่า ยังมี หมาน้ำ และสัตว์จำพวกตระกูลกระรอกอยู่จำนวนมากพอสมควร สัตว์จำพวกลิงได้หายไปจากผืนป่าแล้ว ในบางสายพันธุ์อาจพบบ้าง ถ้าจะพบก็มีน้อยมาก
การเพาะปลูกโดยมากทำเพื่อเอาไว้กินและใช้สอย แลกเปลี่ยน ส่วนการค้าขายนั้น มีในช่วง 40-50 ปี ลงมาเท่านั้น กล่าวถึงการปลูกข้าวในอดีตมีพันธุ์ข้าวมากมาย ได้หดหายลงไปในแต่ละช่วงตามนี้ ข้าวกระดาง ข้าวเล็บจ๊าง ข้าวผาแดง ข้าวเกียนหัก ข้าวหลวงเมืองจ่าง ข้าวผาหิน ข้าวบะตาน ข้าวสามเดือน ข้าวดอเปียง ข้าวดอเปา ข้าวที่กล่าวมานี้ได้เลิกปลูกมาแล้วราว 30-40 ปีที่ผ่านมา ส่วนข้าวเหมยนองสัก 5 ปีที่ผ่านมา เห็นมีการปลูกอยู่ 1 ที่นา ปัจจุบันเลิกปลูกแล้ว ปัจจุบันมีการนำพันธุ์ข้าวจากศูนย์เพาะพันธุ์ข้าวจากอำเภอ สันป่าตองมาปลูกแทน เช่น ข้าวเหลือง ข้าว กข 6 เป็นต้น สิ่งที่ปลูกต่อมา คือ ฝ้าย และถั่วดิน เนื่องจากฝ้ายและถั่วดินเป็นพืชที่เพาะปลูกพร้อมกัน เก็บเกี่ยวพร้อมๆกัน ถั่วดินปลูกขาย ฝ้ายปลูกเอาไว้ทอผ้าใช้สอย ประมาณ 15 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาการทอและการหาตลาดของชุมชน ทำให้มีธุรกิจผ้าฝ้ายเกิดขึ้น ปัจจุบันถั่วดินเลิกปลูกมาแล้ว 20 ปี บ้านตาลยึดอาชีพทำผ้าฝ้ายเป็นรายได้หลักเหมือนกับการเพาะปลูกลำไย แต่ฝ้ายที่นำมาทำเป็นฝ้ายที่จัดซื้อมาจากนอกหมู่บ้าน ไม่ใช่ฝ้ายที่เคยใช้เคยปลูกตามแบบเก่าหนหลัง ในส่วนของลำไยเริ่มปลุกเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน ป้อหนานปั๋น บ้านสบแจ่ม นำมาปลูกเริ่มแรกแถวสวนแม่อิม ปัจจุบัน นายคำไฮ ต๊ะโป่ง ครอบครองอยู่ และมีอยู่ที่วัดบ้านตาลหลวง นำมาจากลำพูน ในส่วนของหอม ปู่เครื่อง นำมาจากบ้านโฮ่งลำพูน เมื่อ 50 ปีก่อน เอามาปลูกก่อนทุกคน เป็นหอมแง กระเทียม ส่วนหอมที่เป็น ของพื้นบ้าน เรียกหอมบั่ว ก็มีปลูกก่อนหน้านี้แล้ว
การแลกปลี่ยน การค้าขาย การแลกเปลี่ยนจะมีในช่วง 50 ปีขึ้นไป ชาวลัวะบ้านบ่อหลวง จะมาขอแลก โดยนำสินค้าพวก ขอเหล็ก ฮอกเหล็ก เกียง จะนำมาแลกผ้าเก่าที่ชาวบ้านตาลกำลังใช้อยู่ ผ้าใหม่ก็ไม่อยากได้ โดยบอกว่าผ้าเก่าหมองขอปี้ไปใส่ เพราะว่า บ้านตาลเป็นปี้เก๊าของลัวะบ้านบ่อหลวง การค้าขายจะเอาถั่วดินไปขาย ขี้โย บะป้าวแห้ง หรือเอาของอื่นๆไปขายที่อำเภอฮอดเก่า แล้วซื้อปลาทู ปลาแห้งมาไว้กิน การค้าขายและแลกเปลี่ยนนี้อยู่ราว 80 ปีก่อน จะใช้การหาบ และวัวต่าง ทั้งนำสินค้าไปและกลับเข้าหมู่บ้าน (จะมีปรากฏอยู่ที่หนึ่งเรียกว่าลิ่งฮ้อมล้อ เพราะเป็นทางที่มีรอยล้ออยู่) การค้าขายและแลกเปลี่ยนจะมีไม่มากนัก เพราะชาวบ้านตาลอยู่กันแบบพอมีพอกิน มีอะไรก็กินนั้น อยู่กินกันไปตามที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นหลัก
สถานที่สำคัญทางศาสนา
พระพุทธรูป ในพระวิหารที่ประดิษฐานอยู่ที่โขง นำมาจาก วัดเก่าบ้านคาว เมื่อ 66 ปี ในราวปี พ.ศ. 2483 ก่อน พระจักษุทำด้วยพลอยสีแดงเกลี้ยงรูปวงรี อีกข้างทำด้วยพลอยสีแดงที่เจียรนัยเป็นเหลี่ยม เรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่รัตนชาติ” เป็นพระพุทธรูปที่ทำ โดยช่างชาวเชียงใหม่ พระพุทธรูป อีกองค์หนึ่งเรียกว่า “หลวงพ่อหนาบ” หรือ “หลวงพ่อเพชร” ที่เรียกเพราะมีแผลไฟไหม้ข้างหลังตรงไหล่และนั่งขัดสมาธิเพชร พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง เรียกว่า “ หลวงพ่อบ้านตาลหลวง” เป็นพระที่มีดินเผาโผล่มาให้เห็นตรงบริเวณหน้าอกด้านขวา นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นอีก 2 องค์ อยู่ในวิหาร เรียกว่า “หลวงพ่อสองพี่น้อง”
พระเพชร และหลวงพ่อสอง เป็นพระที่นำมาจากวัดหลวงบดสด หลังจากนำพระบ้านคาวตกวันรุ่งขึ้นก็ไปนำเอาพระทั้งสององค์มาเก็บไว้ที่วัด สำหรับพระบ้านตาลหลวงเป็นพระที่อยู่คู่กับวัด สันนิษฐานว่าเป็นพระที่มาจากเมืองเชียงใหม่
สำหรับพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระแสนแซ้ว์ ตามที่ปรากฏเห็นเป็นเอกสารระบุว่าเป็นพระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่ง ที่พิพิธภัณฑ์สถานเชียงใหม่มีเก็บไว้แต่ชำรุดมากแล้ว สำหรับพระแสนแซ้ว์ ของวัด ลัฏฐิวันแห่งนี้ ตามที่บันทึกที่เคยเห็นในบัญชีสำรวจพระระบุว่ามีแซ้ว์อยู่ที่สะบักทั้ง 2 ข้างและที่เข่าทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า มีที่เห็นก็เพียงตัวหนังสือเขียนไว้ที่ใต้ฐานพระเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าอ่านอย่างไร เป็นตัวหนังสือที่ไม่เคยอ่านได้เห็นมาก่อน จึงไม่มีใครกล้ายืนยันได้ ต้องให้ผู้ที่มีความรู้มาพิสูจน์ต่อไป
พระบรมธาตุ พระบรมธาตุนี้ มีสัณฐานกลมคล้ายกับพระบรมธาตุ ศรีจอมทองมาก สมัยก่อนจะมีคนเห็นพระบรมธาตุเสด็จออกเที่ยว อยู่เนืองๆ ผู้สูงอายุในหมู่บ้านมักพูดให้ฟังอยู่เสมอว่า พระธาตุเสด็จออกแอ่วหา พระธาตุศรีจองทองบ้าง พระธาตุดอยสุเทพบ้าง พระธาตุน้อยบ้าง เวลาเห็นแสงไฟไปทาง ทิศตะวันตกก็จะพูดว่า พระบรมธาตุเจ้าเสด็จไปแอ่วหา พระบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง มาในสมัยนี้การเสด็จออกของพระธาตุเจ้ามีให้เห็นน้อยมาก เนื่องจากสาเหตุใดไม่อาจกล่าวให้ทราบกระจ่างได้ การบูชาพระธาตุ จะทำกันในเดือนเก้าเป็ง
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
ขยากอีเหี้ย เกิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการของโลกหลายพันปีผ่านมา โดยดูได้จากหินศิลาแลงที่ขึ้นบริเวณปลายสุดของเสาดิน (เสาลีโล) การเกิดหินศิลาต้องอาศัยองค์ประกอบมายาวนานโดยเริ่มจากพื้นแห่งนี้ เป็นพื้นที่ชื้น มีน้ำโดยทั่วไป เมื่อน้ำซึมขึ้นมาบนผิวดินจนเกิดวิวัฒนาการเป็นหินศิลาแลง คำว่า ขยากอีเหี้ย มาจากตัวอ่อนของแมลงยู (แมลงปอ) ที่จะเรียกว่าอีเหี้ย และรูปร่างตอนส่วนล่างของอีเหี้ยคล้ายกับเสาดิน จึงหมายเอาสิ่งนี้เป็นชื่อ
แผ่นดินดัง จะเรียกว่า ดอยแพะก๋อมบ้าง ดอยแพะดังบ้าง สถานที่นี้จะอยู่ในบริเวณกึ่งกลางของ ขยากอีเหี้ย กับ ดอยสิงห์เหลียว ในราวปี 2526 – 2527 ยังมีเสียงดังเวลากระทืบเท้า คล้ายกับมีโพรง ขนาดใหญ่อยู่ด้านล่างของบริเวณนั้น ในปัจจุบัน 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏเสียงดังอีก ในตำนานการบอกเล่าให้พูดต่อๆกันมาว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของสมบัติหรือผู้ที่ทำหน้าที่รักษาสมบัติที่อยู่ในบริเวณนี้ ได้ทำการปิดปากถ้ำไม่ให้มีเสียงดังอีก เพื่อไม่ให้ใครมาขุดเอาสมบัติในสถานที่แห่งนี้
ผาสิงห์เหลียว เป็นส่วนที่ตั้งตระหง่านอยู่อย่างโดดเด่น มองเห็นอย่างชัดเจน มีรูปร่างด้านบนสุด คล้ายสิงห์กำลังเหลียวอยู่ ในส่วนบริเวณนี้ก็กลายเป็นสถานที่บอกไว้ในตำนานว่าจากดอยแพะก๋อม แพะดัง ขึ้นไปบนดอยสิงห์เหลียว จะเห็นมอนดินขอเป็นตำนานที่เล่ามาว่า จะรู้ว่าสมบัติอยู่ตรงไหน ในหลักฐานชิ้นนี้ ตรงกับหลักฐานชิ้นหนึ่งในหนังสือดรรชนีเมือง ได้มีการแปลตำนานไว้ ได้มีเมืองหอด (ฮอด) เข้ามาเกี่ยวข้อง ในช่วงหนึ่งว่า ในเขตอำเภอฮอด มีที่ซ่อนสมบัติมีอยู่ 4 แห่ง ในเขตบ้านต๋านในรวมไว้ 2 แห่ง มีบริเวณผาสิงห์เหลียวดอยแพะก๋อมอยู่ด้วย 1 แห่ง ประวัติตำนานนี้มีอายุล่วงมานับ 1,000 กว่าปี จึงถือว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของชุมชน แม้จะไม่มีเอกสารอื่นๆ ให้เห็นมากนักในอาณาเขตบริเวณนี้มีสิ่งที่พอให้ชมได้คือ ไม้จะกลายเป็นหินได้ต้องอาศัยวิวัฒนาการมายาวนาน 1,000 – 5,000 ปี จึงจะกลายเป็นหินได้
ปัญหาและความต้องการของชุมชน
1. ขาดแคลนน้ำที่ต้องใช้ในการทำการเกษตร ใช้อุปโภคและบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง
2. ขาดแคลนงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างถนนภายในหมู่บ้าน อีกทั้งขาดแคลนงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมถนนที่เสียหายเนื่องจากเป็นถนนสายหลักในการสัญจร และ เส้นทางขนส่งผลิตผลทางการเกษตร
3. ขาดแคลนการสนับสนุนการขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตรของชาวบ้าน
4. ราษฎรในชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกให้เหมาะสมและปลอดภัย
5. การเกิดภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย และภัยอันเกิดจากไฟป่า ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน เทือกสวน ไร่ นา และผลผลิตทางการเกษตร ของราษฎร ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมในชุมชน
6. ปัญหายาเสพติด ที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในหมู่เยาวชนและคนใช้แรงงาน จนเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา